ที่ใหญ่ที่สุดในโลก
อาทิตย์ที่ 2 เดือนพฤศจิกายนของทุกปี
ประวัติความเป็นมางานแสดงช้างสุรินทร์

          ประวัติความเป็นมางานแสดงช้างสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์เป็นที่รู้จักกันโดยทั่วนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างประเทศในนาม "สุรินทร์เมืองช้าง" โดยที่จังหวัดสุรินทร์มีกลุ่มผู้เลี้ยงช้างที่เรียกว่า "กวย" หรือ "ส่วย" ซึ่งมีความชำนาญในการจับช้างเลี้ยงช้างมาแต่ดังเดิม และเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สืบทอดมาแต่บรรพบุรุษจนกระทั่งปัจจุบัน คือ ชุมชนชาวกวยเลี้ยงช้างหมู่บ้านช้าง ในตำบลกระโพ อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์ เมื่อปี พ.ศ. 2503 อำเภอท่าตูมได้จัดงานฉลองที่ว่าการอำเภอใหม่ นายวินัย สุวรรณกาศ นายอำเภอท่าตูมในสมัยนั้น จึงจัดให้มีการแสดงของช้างขึ้นในงานดังกล่าวด้วย ต่อมาปี พ.ศ. 2504 อสท. ได้เข้ามามีส่วนรวมในการจัดงานช้างและยกระดับขึ้นเป็นงานประจำปีของชาติ เมื่อ พ.ศ. 2505 ต่อมา อสท. และจังหวัดสุรินทร์ ได้พิจารณาเห็นว่า การจัดงานที่ในตัวจังหวัดจะอำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยว ได้มากกว่า จึงได้ย้ายงานมาจัดที่สนามกีฬาจังหวัดสุรินทร์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2505 เป็นต้นมา จนกระทั่งปัจจุบันนี้

ความเป็นมางานต้อนรับและเลี้ยงอาหารช้าง

          งานต้อนรับช้าง จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อ ปีพ.ศ. 2535 ที่บริเวณหลังสถานีรถไฟ โดยจะจัดขึ้นก่อนวันแสดงช้างจริง 2 วัน ซึ่งเป็นวันที่ช้างทุกเชือกเดินทางเข้าสู่ตัวเมืองสุรินทร์ ต่อมาได้มีการจัดเลี้ยงอาหารช้าง และย้ายสถานที่มาจัดที่บริเวณสี่แยกน้ำพุ ช้างซึ่งอยู่เคียงข้างชาวสุรินทร์มานานนับร้อยปี ได้สร้างการเติบโตที่ยิ่งใหญ่ของจังหวัดสุรินทร์ นั่นคือ "งานแสดงของช้าง" ซึ่งครับรอบ 40 ปี ในปี พ.ศ. 2543 กำลังจะก้าวสู่ทศวรรษที่ห้า จังหวัดสุรินทร์และองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุรินทร์ จึงมีแนวคิดที่จะสร้างตำนวนประวัติศาสตร์ของจังหวัดที่จะร่วมกันอนุรักษ์ไว้ซึ่งประเพณี วัฒนธรรมอันดีงามของชาวสุรินทร์ที่ว่า

สุรินทร์ถิ่นช้างใหญ่ ผ้าไหมงาม ประคำสวย
ร่ำรวยปราสาท ผัดกาดหวาน ข้าวสารหอม งามพร้อมวัฒนธรรม

          โดยการเปิดสู่ศวรรษที่ห้า ตำนานประวัติศาสตร์ครบรอบ 40 ปี งานแสดงช้างจังหวัดสุรินทร์ ด้วยการจัดงานต้อนรับและเลี้ยงอาหารช้างที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีช้างมาร่วมงานจำนวน 250 เชือก ใช้พืชอาหารช้าง จำนวน 60 ตัน ใช้ผ้าไหมลายโบราณ ที่มีความยาว 2,000 เมตร เป็นผ้าปูโต๊ะอาหารเลี้ยงช้าง จังหวัดสุรินทร์ องค์การบริหารส่วนจังหวัดสุรินทร์ และชาวสุรินทร์ต่างก็มาช่วยกันจัดงานแสดงช้าง งานต้อนรับและเลี้ยงอาหารช้างให้ยิ่งใหญ่จริง ๆ....... เพราะว่างานแสดงช้างเป็นงานประเพณีของชาติ....เพื่อให้การก้าวสู่ทศวรรษที่ห้าของงานแสดงช้างสุรินทร์ยิ่งใหญ่ตระการตา และสถิตตรึงไว้ในความทรงจำมิรู้ลืม....

วัตถุประสงค์
  1. เพื่อเฉลิมฉลองครบรอบ 40 ปี งานแสดงช้างจังหวัดสุรินทร์
  2. เพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวให้กับจังหวัดสุรินทร์
  3. เพื่อเป็นการปลูกจิตสำนึกในการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ช้างไทย
  4. เพื่ออนุรักษ์ช้าง หาทางช่วยเหลือช้าง ช่วยเหลือคนเลี้ยงช้าง ให้ช้างมีอาหารกินที่เพียงพอ คนเลี้ยงช้างมีรายได้ที่พอเพียง
  5. เพื่อเป็นการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ ศิลปวัฒนธรรม ประเพณีท้องถิ่นอันดีงามของจังหวัดสุรินทร์ ให้เป็นที่รู้จักทั่วไป
  6. เพื่อเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับช้าง และธรรมชาติความเป็นอยู่ของช้างให้ประชาชนทั่วไปได้รับทราบ
  7. เพื่อเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับคนเลี้ยงช้าง และประชาชนทั่วไปในจังหวัดสุรินทร์

ลักษณะของช้างที่มีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง

  1. ตาสะอาด และแจ่มใส มีน้ำตาหล่อเลี้ยงพอสมควร
  2. เพดาน ลิ้น และเยื่อ่อนในงวง มีสีชมพูอ่อน ๆ
  3. ขณะอยู่ท่ายืน มักไม่ยืนนิ่ง ๆ ชอบแกว่งงวง แกว่งขา กระพือใบหู และยกขาข้างหนึ่งถูกอีกข้างหนึ่งเสมอ
  4. ผิวหนังอ่อน ย่น และหนา เป็นมันเมื่อม คล้ายชุ่มชื้นอยู่เสมอ
  5. โคนเล็บมีเหงื่อซึมตลอดเวลาทั้ง 4 เท้า ลักษณะเล็บโค้งนูน
  6. ชอบกินหญ้าตลอดเวลา
  7. ปัสสาวะ มีปริมาณมาก สีเหลืองอ่อน กลิ่นไม่ฉุน
  8. อุจจาระสีน้ำตาลอ่อน เมื่อถูกอากาศจะกลายเป็นสี่ค่อนข้างดำ แต่อุจจาระอาจเปลี่ยนแปลงได้ตามประเภทของอาหารที่ช้างกิน
  9. ช้างที่แข็งแรงจะนอนหลับคืนละครั้งหรือสองครั้ง แต่จะไม่นอนกลางวันเลย ระหว่างเที่ยงคืนถึงตี 3 ของวันรุ่งขึ้น

ข้อมูลที่น่ารู้เกี่ยวกับช้างไทย

ช้าง ช้างเป็นสัตว์บกเลี้ยงลูกด้วยนมที่ใหญ่ที่สุดในโลก
อายุช้าง ช้างมีอายุเฉลี่ยประมาณ 70 ปี
น้ำหนักช้าง ช้างเมื่อโตเต็มที่จะมีน้ำหนักประมาณ 3,000 - 4,000 กิโลกรัม
ส่วนสูงช้าง ช้างเมื่อโตเต็มที่จะมีความสูงเฉลี่ยประมาณ 8 - 9 ฟุต
ช้างกินอาหาร ช้างจะกินอาหารประมาณร้อยละ 10 ของน้ำหนักตัว/วัน หรือประมาณวันละ 200 - 400 กิโลกรัมต่อตัว
ช้างนอน ช้างจะหลับนอนเพียงวันละ 3 - 4 ชั่วโมงเท่านั้น อีก 20 ชั่วโมง จะใช้เวลาในการออกหากินในเวลา 1 วัน
ช้างต้องการน้ำ ช้างจะกินน้ำวันละประมาณ 60 แกลลอน หรือ 15 ปิ๊บ/วัน
เริ่มผสมพันธุ์ ช้างจะเริ่มผสมพันธุ์ เมื่ออายุ ประมาณ 13 - 15 ปี จนถึงอายุ 50 ปี
ฤดูกาลผสมพันธุ์ ช้างจะผสมพันธ์ไม่เป็นฤดูกาล สุดแท้แต่โอกาสและบรรยากาศแวดล้อม
การผสมพันธุ์ ช้างตัวผู้จะขึ้นทับตัวเมียครั้งหนึ่งใช้เวลา 30 - 60 วินาที และใช้เวลาในการผสมจริง ๆ (สอดเครื่องเพศ) เพียง 10 - 15 วินาทีเท่านั้น
การเป็นสัด ช้างตัวเมียจะเป็นสัดปีละ 3 - 4 รอบ (ถ้าไม่มีการตั้งท้อง) เป็นสัดครั้งหนึ่งอยู่นาน 2 - 8 วัน (เฉลี่ย 4 วัน)
ช้างตั้งท้อง ช้างจะตั้งท้องนานประมาณ 18 - 22 เดือน (ลูกช้างตัวผู้จะอยู่ในท้องนานกว่าลูกช้างตัวเมีย)
การตกลูก ปกติช้างจะตกลูกคราวละ 1 ตัว อาจมีแฝดได้
ระยะเวลาการมีลูก เมื่อช้างออกลูกมาแล้วจะดูแลและอยู่ร่วมกันกับแม่ประมาณ 3 ปี แล้วแม่ช้างจึงจะเริ่มผสมพันธุ์อีกครั้งหนึ่ง รวมระยะเวลา 5 ปี กว่าแม่ช้างจะมีลูกแต่ละครั้ง ดังนั้น แม่ช้าง 1 เชือก ตลอดชีวิตจะตกลูกได้ 4 - 6 ตัว ลึงค์ ลึงค์หรืออวัยวะสืบพันธุ์ช้าง ช้างตัวผู้จะมีลึงค์ยาวประมาณ 1 - 2 เมตร ในสภาพปกติ และยาว 2 - 2.5 เมตร ขณะแข็งตัวเต็มที่ และจะโค้งงอเป็นรูปตัว "S"
ลูกอัณฑะช้าง ช้างตัวผู้จะมีลูกอัณฑะอยู่ในช่องท้องใกล้ ๆ กับไต เมื่อโตเต็มวัยลูกอัณฑะจะมีน้ำหนัก 1 - 4 กิโลกรัม
อากาศที่ช้างชอบ ปกติช้างชอบอยู่ในป่าดงดิบ ทึบ มีอากาศร่มเย็น อุณหภูมิประมาณ 18 - 20 องศาเซลเซียส ไม่ชอบอากาศร้อนจัด
การตกมัน ช้างพลายและช้างพังที่โตเต็มวัยหรือเรียกว่าอยู่ในวัยฉกรรจ์ซึ่งมีอายุระหว่าง 20 - 40 ปี ถ้ามีร่างกายอ้วนถ้วนแข็งแรงสมบูรณ์และมีโอกาสตกมันได้ทั้งนั้น (บางเชือกขณะตกมันจะมีนิสัยดุร้ายและจำเจ้าของไม่ได้)
ระบบประสาท ช้างจะรับรู้ทางระบบประสาทตาประมาณ 10 เปอร์เซนต์เท่านั้น แต่จะมีระบบรับรู้ การจำเสียงจำกลิ่นได้เป็นอย่างดี
ผิวหนัง ช้างจะมีผิวหนังหนาประมาณ 1.9 - 3.2 เซนติเมตร
การเต้นของหัวใจ - ท่ายืน 25 - 30 ครั้งต่อนาที
- ท่านอนตะแคง 72 - 98 ครั้งต่อนาที
- ขณะออกกำลัง 60 ครั้งต่อนาที
อัตราการหายใจ ช้างหายใจ 4 - 6 ครั้งต่อนาที
อุณหภูมิในร่างกาย ปกติอุณหภูมิในร่างกายข้างประมาณ 36 - 37 องศาเซลเซียส
ฟันช้าง ตลอดชีวิตของช้างจะมีฟันกรามถึง 6 ชุด
ซี่โครงช้าง ช้างมีซี่โครงจำนวน 19 คู่
ข้อกระดูกหาง ช้างมีข้อกระดูกหาง ประมาณ 26 - 33 ข้อ
เล็บเท้าช้าง เท้าหน้าของช้างมี 5 เล็บ - เท้าหลังของช้างมี 4 เล็บ
หมายเหตุ :

ศัพท์นิยม
ลักษณะนามของช้างป่า ใช้ ตัว
ลักษณะนามของช้างบ้าน ใช้ เชือก
ลักษณะนามของการรวมกลุ่มเป็นหมู่ของช้างป่า ใช้ ฝูง
ลักษณะนามของการรวมกลุ่มเป็นหมู่ของช้างบ้าน ใช้ โคลง


ขบวนต้อนรับช้าง

          1. ช้างน้อยดรัมเมเยอร์ 1 เชือก
          2. วงดุริยางค์ (ส.ว.ค. 50 คน)
          3. ขบวนองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุรินทร์ (50 คน)
          4. ขบวนแห่คำขวัญจังหวัดสุรินทร์
            - สุรินทร์ถิ่นช้างใหญ่ (พลายทองใบ, พลายบัว)
            - ผ้าไหมงาม ประคำสวย (วิทยาลัยอาชีวศึกษาสุรินทร์ 130 คน)
            - ร่ำรวยปราสาท (วิทยาลัยเทคนิคสุรินทร์ 100 คน)
            - ผักกาดหวาน (โรงเรียนสุรวิทยาคาร 100 คน)
            - ข้าวสารหอม (โรงเรียนสิรินธร 100 คน)
            - งามพร้อมวัฒนธรรม (สถาบันราชภัฏสุรินทร์ 120 คน)
          5. ขบวนกลองยาวจากอำเภอท่าตูม
          6. ขบวนทหารถือตุงนำหน้าช้าง (100 คน) 6. ขบวนช้าง 250 เชือก

อาหารช้างแบ่งออกเป็น 5 ประเภท ประกอบด้วย

          1. อาหารจำพวกหญ้า (Grassese) ได้แก่ หญ้าแพรก หญ้ากล้อง หญ้าปากหวาย หญ้าคา หญ้ากก อ้อ พงเขม ฯลฯ
          2. อาหารจำพวกไม้ไผ่ (Bamboos) ได้แก่ ไม้ไผ่หนาม ไผ่ป่า ไผ่บ้าน ไผ่หลาม ไม้รวก ไม้ซาง ฯลฯ
          3. อาหารจำพวกเถาวัลย์ และไทร (Greepers and Flews) ได้แก่ บอระเพ็ด สัมป่อย เครือสะบ้า กระทงลาย ผัดแปปป่า หวาย สลอดน้ำ ไทร เครือเขาน้ำ เถาวัลย์แดง ฯลฯ
          4. อาหารจำพวกไม้ยืนต้น (Trees Palms and Shrubs) ได้แก่ กล้วย ขนุน กุ่ม สัก งิ้วป่า ถ่อน มะพร้าว มะเดื่อ มะขามบ้าน มะเฟือง มะไฟ จามจุรี (ก้ามปูหรือฉำฉา) ปอเสา มะเดื่อปล้อง โพธิ์ มะยมป่า มะขาม มะตูม มะขวิด ระกำ ฯลฯ
           5. อาหารจำพวกพืชไร่ (Cultivated Crops) ได้แก่ ข้าวโพด ข้าวฟ่าง เดือย สัปปะรด ต้นถั่วแระ อ้อย ฟัก แตง ฯลฯ


Menu อาหารเลี้ยงช้าง โดยทั่วๆไป

ประเภทอาหาร
อาหารสำหรับช้าง 1 เชือก
อาหารสำหรับช้าง 250 เชือก
อ้อย
กล้วยสุก
สับปะรด
แตงโม
ต้นข้าวโพดสด
แตงกวา
มันแกว
100 ก.ก
20 หวี หรือ 20 ก.ก.
20 ลูก หรือ 20 ก.ก.
20 ลูก หรือ 20 ก.ก.
40 ก.ก.
20 ก.ก.
20 ก.ก.
25,000 ก.ก. หรือ 25 ตัน
5,000 หวี หรือ 5 ตัน
5,000 ลูก หรือ 5 ตัน
5,000 ลูก หรือ 5 ตัน
10,0000 ก.ก. หรือ 10 ตัน
5,000 ก.ก. หรือ 5 ตัน
5,000 ก.ก. หรือ 5 ตัน
รวม
240 ก.ก./ตัว/วัน
60,000 ก.ก. หรือ 60 ตัน ต่อช้าง250 เชือก

ข้อมูลสถิติการจัดงาน

1. ช้างร่วมงาน จำนวนประมาณ 250 เชือก
2. อาหารช้าง จำนวน 60 ตัน
3. โต๊ะอาหารช้าง จำนวน 500 โต๊ะ
4. พื้นที่โต๊ะวางอาหารช้าง 700 ตารางเมตร
5. จำนวนผู้ร่วมขบวนแห่ต้อนรับช้าง 800 คน
6. ผู้มีเกียรติ นักท่องเที่ยว และประชาชนทั่วไปที่มาต้อนรับและเลี้ยงอาหารช้าง ประมาณ 10,000 คน

 

ผ้าไหมปูโต๊ะเลี้ยงอาหารช้างลายโปบราณ (ลายสไบเปราะ หรือโกนจะดอ)

- ขนาดผ้ากว้าง 75 ซ.ม.
- ขนาดผ้ายาว 2,000 เมตร
- ใช้เส้นไหมแท้ 300 ก.ก.
- ใช้สีย้อม 160 ก.ก.
- ใช้เวลาในการทอ 90 วัน
- ใช้กลุ่มสตรีอำเภอเมืองสุรินทร์ในการทอผ้าไหม 100 คน
- ใช้ผู้ทอผ้าไหม 20 คนต่อวัน
- ทอที่ศูนย์สาธิตการตลาดบ้านแกใหญ่ ต.แกใหญ่ อ.เมือง จังหวัดสุรินทร์